เที่ยวภูกระดึง

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ

                                  Image


ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่วนอุทยานถ้ำปลา และวนอุทยานน้ำตกผาเสื่อ ในท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่ปายฝั่งขวา ท้องที่อำเภอเมืองและกิ่งอำเภอปางมะผ้า และด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน แนวเทือกเขาจะทอดยาวตามแนวเหนือใต้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ คือ ถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ ที่สวยงามเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป เหมาะสำหรับการไปพักผ่อนหย่อนใจอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ มีเนื้อที่ประมาณ 488 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 305,000 ไร่

ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติครั้งที่ 1/2540 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2540 เห็นชอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-ผาเสื่อ โดยเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 652/2528 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจพื้นที่เพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ ลงวันที่ 10 เมษายน 2538 และคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 240/2539 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 ให้นายพินิต สุวรรณรัตน์ ดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมในพื้นที่วนอุทยานถ้ำปลาและวนอุทยานน้ำตกผาเสื่อ เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

ผลการสำรวจได้รวบรวมพื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติจำนวน 305,000 ไร่ หรือประมาณ 488 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาตินี้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างแท้จริง และได้กันพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชน ออกจากที่จะประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว ประกอบกับทางอุทยานแห่งชาติ ได้ดำเนินการประสานงานกับ หน่วยงานอื่น อาทิเช่น ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด จึงไม่มีปัญหามวลชนแต่อย่างใดและต่อมา คณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2539 ซึ่งมีนายสมเจตน์ วิริยะดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 116 ของประเทศไทย โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 96 ก ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2552 มีเนื้อที่ประมาณ 394,120 ไร่ หรือ 630.59 ตารางกิโลเมตร

      


ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นแนวเทือกเขาหลายเทือกสลับเป็นลูกคลื่นต่อเนื่องไปจนจดชายแดนพม่าทางด้านทิศเหนือ มีความลาดชันมาก จุดสูงสุดเป็นยอดเขาดอยลาน สูงประมาณ 1,918 เมตรจากระดับน้ำทะเล อาณาเขตทิศเหนือจดรัฐฉาน สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ทิศใต้จดห้วยหมากอื้นและห้วยผึ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทิศตะวันออกจดลำน้ำของ กิ่งอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทิศตะวันตกจดรัฐฉาน สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า
 ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีลักษณะภูมิอากาศแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูกาล

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่านทะเล และมหาสมุทร ทำให้อากาศชุ่มชื้นและมีฝนตกชุก โดยเฉพาะเดือนสิงหาคม เป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในรอบปี

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทย ทำให้อากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคมเป็นช่วงที่เกิดหมอกมากที่สุดประมาณ 21 - 26 วัน ส่วนมากเกิดตอนรุ่งเช้า โดยมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยได้ 9.80 องศาเซลเซียส

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วโดยเฉพาะเดือนเมษายน จะเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบปี โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 34.09 องศาเซลเซียส
 พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อสามารถจำแนกออกได้เป็น

ป่าดงดิบ ส่วนใหญ่จะเป็นผืนป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ สภาพดินค่อนข้างลึก มีความชุ่มชื้นสูง ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ยาง ประดู่ ตีนเป็ด ก่อ ฯลฯ พืชพื้นล่างจะพบหวาย ขิง ข่าป่า และเฟิน มากมาย

ป่าสนเขา เป็นป่าที่พบในพื้นที่สูงประมาณ 300-1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะเป็นป่าโปร่งมีทั้งสนสองใบและสนสามใบ ส่วนใหญ่จะขึ้นปะปนอยู่กับป่าเต็งรัง พืชพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นหญ้าคา

ป่าเบญจพรรณ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ พบตามที่ราบเชิงเขาและที่ลาดชันตามไหล่เขา ตลอดจนริมห้วยทางตอนเหนือและตอนกลางของพื้นที่ จนถึงระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะแบก มะค่าโมง ประดู่ แดง ไทร และงิ้วป่า

ป่าเต็งรัง พบตามสันเขาและตามที่ลาดชันที่ระดับความสูงประมาณ 300-900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ สภาพดินตื้น มีก้อนหินโผล่ กรวด และลูกรังปะปน ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ มะค่าแต้ เต็ง รัง ตะแบกนา เป็นต้น

จากการสำรวจสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติพบไม่น้อยกว่า 408 ชนิด เช่น เลียงผา กระทิง ควายป่า หมี เก้ง กวางป่า หมูป่า กระต่ายป่า และนกนานาชนิด ฯลฯ นก 123 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 30 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 5 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 30 ชนิด ปลาน้ำจืด 20 ชนิด แมลง 200 ชนิด 


      



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น