เที่ยวภูกระดึง

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ทะเลบัวแดง หนองหานกุมภวาปี

ความเป็นมาของแหล่งท่องเที่ยวทะเลบัวแดง

     จังหวัดอุดรธานีมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด คือ หนองหาน มีพื้นที่ประมาณ ๒๒,๕๐๐ ไร่ หรือ ๓๖ ตารางกิโลเมตร มีความยาวของคันดินรอบหนองหาน
ยาวถึง ๘๐ กิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภอกุมภวาปีเป็นส่วนใหญ่ และบางส่วนอยู่ในเขตอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอกู่แก้ว เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภค
บริโภคของชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบหนองหาน จนได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ ชุ่มน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

      หนองหาน นอกจากจะเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลา พันธุ์นก และพืชน้ำ จำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบหนองหานได้พึ่งพาเป็นแหล่งอาหารแล้วนั้น ยังมีระบบนิเวศน์ที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นที่สนใจของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มาศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้ว ธรรมชาติของหนองหาน ยังได้บรรจงสร้างทะเลบัวแดงเพิ่มความงดงามให้แก่หนองหานมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี ดอกบัวแดงในหนองหานซึ่งมีจำนวนมากจะงอกงามโผล่จากน้ำขึ้นมา โดยเริ่มจากเดือนตุลาคมบัวเริ่มแตกใบและเริ่มออกดอกตูมและบานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บัวจะออกดอกมีปริมาณมากที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ และค่อย ๆ ลดปริมาณลงในเดือนมีนาคม ดอกบัวจะบานในช่วงเช้าตรู่จนถึงเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. นักท่องเที่ยวจะมองเห็นดอกบัวแดงบานเต็มท้องน้ำหนองหานสุดลูกหูลูกตางดงามอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ จึงเป็นที่มาของคำว่าทะเลบัวแดง
      
ตำนานรักพญานาค:เมืองล่มจมบาดาลที่หนองหาน

          มีหมู่บ้านที่อยู่ติดริมหนองหานและอยู่ในอาณาบริเวณรวมแล้วประมาณ ๖๐ หมู่บ้านจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าหนองหานมีความกว้างใหญ่เพียงใดและมีตำนานเรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคที่มีชื่อเสียงว่า ตำนานผาแดงนางไอ่ ซึ่งคนในชุมชนยังมีความเชื่อในตำนานเรื่องนี้สืบต่อกันมายาวนาน 
           ตำนานโบราณเกี่ยวกับหนองหานที่เล่าขานกันมาตั้งแต่โบราณ กล่าวไว้ว่า นางไอ่เป็นธิดาของพระราชาเมืองขอม ซึ่งมีสิริโฉมงดงาม เป็นที่หมายปองของเจ้าชายเมืองต่าง ๆ มีอยู่ปีหนึ่ง เมืองขอมประสบปัญหาฝนแล้ง เจ้าเมืองขอมจัดการแข่งขันบั้งไฟ และมีการจุดบั้งไฟเพื่อเสี่ยงทายขอฝน และหากบั้งไฟของใครขึ้นสูงที่สุด จะยอมยกธิดา คือนางไอ่คำ ให้เป็นภรรยา มีเจ้าชายจากนครต่าง ๆ เข้าแข่งขัน รวมทั้งท้าวผาแดงแห่งเมืองผาโพง 
 


ฝ่ายท้าวภังคี โอรสของพญานาค ในนครบาลดาล ทราบข่าว ก็ยกพลพญานาคปลอมตัวเป็นคนเข้ามาเข้าแข่งขันด้วย บั้งไฟของพญานาคภังคีไม่ชนะ แต่เมื่อภังคีได้ยลโฉมนางไอ่คำก็ไม่สามารถจะถอนใจรักได้ จึงปลอมตัวเป็นกระรอกเผือกมาในสวนดอกไม้ของนางไอ่คำ ด้วยเคราะห์แต่ชาติปางก่อน นางไอ่คำเกิดคิดวิปริต ต้องการบริโภคเนื้อกระรอกเผือก จึงสั่งให้นายพรานตามล่ามาปรุงอาหาร และนายพรานก็ยิงกระรอกเผือกได้ ก่อนตายได้อธิษฐานว่า ใครก็ตามที่ได้บริโภคเนื้อของตนจงจมน้ำตายในบาดาล นางไอ่คำได้นำเนื้อกระรอกมาปรุงอาหาร และแจกจ่ายเนื้อกระรอกไปทั้งเมือง ในคืนนั้นเองเกิดพายุฝนแผ่นดินไหว น้ำท่วมพัดพาผู้คนลงสู่หนองหานและท้องบาดาล ท้าวนาคราชบิดาของภังคี โกรธที่โอรสถูกฆ่า จึงพานาคจากเมืองบาดาลมาอาละวาดถล่มเมืองขอมจนสิ้น ส่วนท้าวผาแดง เมื่อเห็นเมืองขอมถล่มได้พานางไอ่คำขึ้นม้าควบหนีไปทางทิศเหนือ หนีน้ำและบรรดาพญานาคที่ตามพ่นไฟไล่หลังมา วิญญาณแค้นของภังคีได้วนเวียนมาทวงความแค้นกับผาแดงนางไอ่ตลอดมาทุกชาติ ๆ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น